ภาวะคุกคามคุณภาพชีวิตของคนในปัจจุบันอาจไม่ใช่เพียงแค่โรคทางกายเท่านั้น แต่สภาวะความผิดปกติทางจิตใจกำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามคนวัยทำงานยุคนี้ ล่าสุดภาวะนี้กำลังเป็นที่กล่าวถึงในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนคนทำงานรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับความรู้สึก “เหนื่อยล้าจากการทำงาน ไม่มีใจ หมดแรง และหมดไฟ” ที่กำลังเผชิญอยู่นั่นเอง
องค์การอนามัยโลกประกาศว่าจะใช้มาตรฐานการจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงครั้งที่ 11 (International Classification of Diseases Revision11: ICD-11) ในวันที่ 1 มกราคม พ. ศ. 2565 หรือ ค.ศ. 2022 และมีข่าวออกมาว่าองค์การอนามัยโลกจะถือว่าภาวะหมดไฟเป็นโรคหรือเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ได้ (an official medical diagnosis or a legitimate diagnosis) ต่อมาองค์การอนามัยโลกแก้ข่าว โดยบอกว่าสื่อมวลชนเข้าใจผิด ภาวะหมดไฟไม่ใช่โรค (not a medical diagnosis) และแนะนำให้จำกัดการเรียกภาวะหมดไฟนี้เฉพาะในคนทำงานหรือประกอบอาชีพเท่านั้น ไม่ใช้คำนี้ในภาวะที่มีความรู้สึกลบหลายอย่างที่คล้ายกันแต่มีสาเหตุจากอย่างอื่น เช่น ครอบครัว คนรัก หรือเรื่องส่วนตัว
ศ. ดร. นพ. พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้านส่งเสริมและฟื้นฟู และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม กล่าวว่า Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational Phenomenon) ซึ่งภาวะนี้ไม่ใช่ความผิดปกติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นหัวข้อที่มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว ปัจจุบันภาวะ Burnout ได้ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายจากสื่อมวลชนและประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วยความรู้สึกเชื่อมโยงกับอาการหมดไฟที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้างในแวดวงการทำงานเดียวกัน
เมื่อถามถึงสาเหตุของภาวะ Burnout อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลกระทบจากการขาดสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ทำให้เกิดปัจจัยต่างๆ อันนำมาซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงาน อาทิขาดการบริหารจัดการและการตัดสินใจที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสภาพการทำงานที่มีความกดดันและความเครียดตลอดเวลา ขาดความชัดเจนในภาระงาน ไม่ได้รับการยอมรับจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานมีความรับผิดชอบในงานและความคาดหวังในการทำงานสูงมากเกินไปทำงานที่ไม่เหมาะกับตนเองจนทำให้เกิดความเครียด ทำงานที่มีความวุ่นวายทำให้ต้องใช้พลังงานสูงจึงเหนื่อยล้าได้ง่าย และขาดแรงสนับสนุนทางสังคม เป็นต้น
ศ. ดร. นพ. พรชัย อธิบายด้วยว่า เมื่อเกิดภาวะ Burnout อาจมีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติทั้งทางร่างกาย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำลงอันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาได้บ่อยขึ้น และความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ เป็นต้น สำหรับความผิดปกติทางอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกล้มเหลว สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย กังวลใจทุกครั้งที่ต้องไปทำงาน ขาดแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นในการทำงาน ขาดสมาธิและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกิดทัศนคติเชิงลบต่องานและผู้ร่วมงาน รู้สึกโดดเดี่ยว ฯลฯ อีกทั้งความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น การขาดความรับผิดชอบต่องานการหลีกเลี่ยงการทำงาน การปลีกตัวออกจากสังคมส่วนรวม รวมถึงอาจมีการใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงการรับประทานอาหารมากขึ้นเพื่อปลอบประโลมตัวเองจากภาวะดังกล่าว
แม้ว่าภาวะหมดไฟในการทำงานจะไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เหมือนเช่นโรคอื่นๆ แต่ก็สามารถทำได้ด้วยการใช้แบบสอบถาม “Burnout Self-Test” ที่พัฒนาขึ้นโดย คริสติน่า มาสลัช (Christina Maslach) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ซึ่งแบบสอบถามนี้ได้จัดแบ่งคำถามตามหัวข้อชี้วัดภาวะหมดไฟในการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.ความรู้สึกหมดเรี่ยวแรง เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย (Emotional Exhaustion)
2.ความรู้สึกไม่อยากทำงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่ทำ (Cynicism)
3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง (Professional Efficacy)
ซึ่งแบบสอบถาม “Burnout Self-Test” นี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและทำการทดสอบได้ด้วยตนเอง หากพบว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาและคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.พรชัย แนะนำอีกว่า การลดความเสี่ยงและรักษาอาการ Burnout ในเบื้องต้นที่สามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ ปรับสมดุลการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานทันทีเพื่อไม่ให้ร่างกายและจิตใจทรุดโทรมไปมากกว่าเดิม เช่น พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อและเลือกรับประทานแต่สิ่งที่มีประโยชน์ ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ชอบ จำกัดเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารและโซเชียลมีเดียจัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน สร้างขอบเขตในการทำงานเพื่อลดการแบกรับภาระงานที่มากเกินไป ปรับมุมมองหรือทัศนคติให้เห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำ อีกทั้งการช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน หรือออกไปทำกิจกรรมจิตอาสา ก็จะทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงของภาวะ Burnout ได้
เพราะหัวใจสำคัญของการป้องกันและรักษาภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ จัดการและรับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันไม่ให้สะสมจนบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิต จนเกิดเป็นภาวะ “หมดไฟในการทำงาน” นั่นเอง