โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

แขนกลช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) ทางเลือกที่แพทย์ใช้ – ทางรอดที่ผู้ป่วย “มะเร็งต่อมลูกหมาก” มั่นใจ

จากจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง “หุ่นยนต์ผ่าตัด” ได้กลายเป็นความจริงเรียบร้อยแล้วสำหรับวงการแพทย์แห่งศตวรรที่ 21 ศัลยแพทย์ชั้นนำทั่วโลกต่างยอมรับ “หุ่นยนต์” ในฐานะแขนกล “ผู้ช่วย” ผ่าตัดซึ่งทำให้ศัลยแพทย์ก้าวข้ามข้อจำกัดหลายประการในการผ่าตัดบริเวณที่ซับซ้อนและเข้าถึงได้ยากของร่างกายมนุษย์ ผลลัพธ์คือผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น เกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก อีกทั้งแขนกลช่วยผ่าตัดยังมีผลงานที่โดดเด่นและน่าสนใจก็คือ การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหลังการผ่าตัดอีกด้วย

ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่าการผ่าตัดโดยใช้แขนกลหรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery)เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดเอง แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องกระตุ้น เมื่อศัลยแพทย์ขยับมือ แขนกลก็จะขยับตาม ดังนั้นการผ่าตัดในตำแหน่งที่ “ยาก” จึง “ง่ายขึ้น” ในทันที

การใช้ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” ถือเป็นวิธีการรักษาที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก “การผ่าตัดด้วยกล้อง”ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า การสอดเครื่องมือเข้าไปผ่าตัดในร่างกายของผู้ป่วยโดยไม่ต้องเปิดปากแผลกว้าง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยบอบช􀄞้ำน้อย มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกลับบ้านได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) และหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีระบบภาพ 3 มิติที่มีความละเอียดสูงและมีก􀄞ำลังขยายภาพอย่างน้อย 5 เท่า (3D High Definition : 3D HD) จากเดิมที่การผ่าตัดโดยใช้กล้องสามารถให้เพียงภาพ 2 มิติเท่านั้นในขณะที่ “แขนกล” ก็ถูกพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใกล้เคียงกับ “ข้อมือมนุษย์” ที่สามารถพลิกหรือหักงอได้อย่างอิสระตามการควบคุมของศัลยแพทย์ เปรียบเสมือนมือของศัลยแพทย์ที่สามารถสอดเข้าไปทำการผ่าตัดรักษาได้ในบริเวณที่อยู่ลึกหรือที่แคบซึ่งยากต่อการเข้าถึงกว่าการผ่าตัดแบบปกติ

“คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าหุ่นยนต์สามารถผ่าตัดได้เอง แต่ความจริงแล้วศัลยแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์เป็นเพียง “ผู้ช่วย” ให้การผ่าตัดสะดวกยิ่งขึ้นและลดผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยให้น้อยลง” ผศ.นพ.อภิรักษ์ กล่าว

สำหรับโลกของวิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนา “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” มาจนเข้าสู่ยุคที่ 3 – 4 ซึ่งหุ่นยนต์ในยุคนี้ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ระบบแขนกลทำหัตถการที่มีความแม่นยำสูง สามารถช่วยขจัดอุปสรรคหรือความเสี่ยงต่างๆ เช่น อาการมือสั่นของศัลยแพทย์ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนมีระบบความปลอดภัยและระบบสำรองไฟฟ้า สำหรับกรณีไฟฟ้าดับก็ยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.อภิรักษ์ อธิบายว่า ข้อจำกัดของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีเพียงอย่างเดียวคือ มีราคาสูง ครั้งละ 200,000 – 250,000 บาท แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะสามารถใช้กับการผ่าตัดได้ทุกประเภทและให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม แต่ศัลยแพทย์จะประเมินความคุ้มค่า เลือกใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเฉพาะในกรณีการผ่าตัดที่ยากอยู่บริเวณที่ลึกมาก มีเส้นประสาทมาก หรือต้องมีการเย็บแผล สร้างเนื้อเยื่อขึ้นใหม่ ได้แก่ การผ่าตัดรักษาโรค “มะเร็งต่อมลูกหมาก” และ “มะเร็งไต” เป็นหลัก

การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากทั่วโลก โดยร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในสหรัฐอเมริกาจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะหรือในส่วนอุ้งเชิงกรานของผู้ป่วยซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ลึก ดังนั้นการใช้แขนกลเข้าไปช่วยผ่าตัดจึงเป็นวิธีที่ทำให้ปากแผลผ่าตัดเล็ก แต่ศัลยแพทย์สามารถทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีกล้องภาพ 3 มิติความคมชัดสูงที่ทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นเส้นประสาทและต่อมต่างๆ ที่อยู่โดยรอบได้อย่างชัดเจนเอื้อต่อการเก็บรายละเอียดในบริเวณผ่าตัดที่เต็มไปด้วยเส้นประสาท จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้ป่วยน้อยลง โดยพบว่าหลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรักษาแล้ว ยังสามารถลดความเสี่ยงของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งไต โดยพบว่าให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ศัลยแพทย์จะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1.30 ชั่วโมง จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมงในการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

หรือการผ่าตัดแบบเปิดสำหรับการทำหัตถการแบบเดียวกัน จึงเท่ากับว่าสามารถช่วยลดระยะเวลาในการที่ต้องหนีบเส้นเลือดแดงให้สั้นลง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลงนั่นเอง

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาให้บริการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งไตมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว นอกเหนือจากสถานพยาบาลชั้นนำ 4 แห่งทั่วประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันนอกจากนั้นแล้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังได้ใช้เทคโนโลยีในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางอีกหลากหลายสาขา เช่น สาขาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา ศัลยศาสตร์ทั่วไป ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น

แม้ว่าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะไม่ใช่วิทยาการที่แปลกใหม่อีกต่อไป แต่ก็ยังคงเป็น “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ที่ ผศ.นพ.อภิรักษ์ หนึ่งในศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะแถวหน้าของเมืองไทยแนะนำ หลังจากที่ทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ใช้ “หุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด” ในการเปิดทางรอดชีวิต พร้อมเพิ่มโอกาสการกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติให้กับผู้ป่วยจำนวนมากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในผู้ป่วยก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถปรึกษา หรือขอคำแนะนำเพื่อเข้ารับการรักษา และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ อาคารสิรินธร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. หรือที่หมายเลข โทรศัพท์ (02) 256 4515

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์