โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

Minimally Invasive Surgery การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เจ็บน้อย แผลเล็ก

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนถ้าพูดถึง “การผ่าตัด” แล้ว สําหรับผู้ป่วยและญาติก็คงเป็นเรื่องใหญ่และน่ากังวลใจพอสมควร แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันอย่าง “การผ่าตัดด้วยการ ส่องกล้อง” (Minimally Invasive Surgery) ทําให้การผ่าตัดไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป เรียกได้ว่าเป็น ทางเลือกใหม่ที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง

การผ่าตัดแบบส่องกล้องเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศัลยแพทย์ไทยในปี พ.ศ. 2536 โดยเริ่มจากการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีจากนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทําให้การผ่าตัดแบบส่องกล้องได้เข้ามาตอบโจทย์การรักษาโรคต่างๆ มากขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถือเป็นผู้นําในการผ่าตัดแบบส่องกล้องด้วยผลงานที่โดดเด่น นั่นคือการผ่าตัดไทรอยด์ด้วยการส่องกล้องสําเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยรศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ อาจารย์ประจําภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความก้าวหน้าของวิธีการผ่าตัดแบบนี้ช่วยไม่ให้เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ที่บริเวณต้นคอของผู้ป่วยเหมือนการผ่าตัดด้วยวิธีเดิม เนื่องจากการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะผ่าทางผนังทรวงอก ซึ่งจะเกิดรอยแผลเป็นเพียง 1.5 ซม. จํานวน 1 แผล และแผลขนาด 0.5 ซม. อีก 2-3 แผลเท่านั้น โดยใช้เวลาผ่าตัดเพียง 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน และสามารถกลับไปทํางานได้ภายใน 5-7 วัน ซึ่งผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ของทั้งศัลยแพทย์และ ผู้ป่วยเองด้วย

รศ.นพ.สุเทพ ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแบบส่องกล้องกล่าวว่า หลักการของการผ่าตัดแบบส่องกล้องคือ การลดขนาดของปากแผลให้เล็กมากด้วยการใช้เครื่องมือที่มีขนาดยาวกว่าปกติ มีลักษณะคล้ายกับหลอดหรือท่อเพื่อเจาะแล้วสอดกล้องกับอุปกรณ์ผ่าตัดที่ปลายท่อด้านหนึ่งผ่านเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย ในขณะที่ปลายอีกด้านหนึ่งเป็นด้ามจับสําหรับแพทย์ ปากแผลผ่าตัดจะมีขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของเครื่องมือคล้ายท่อเหล่านี้ อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเพียง 2 มิลลิเมตร หรือเล็กกว่าด้ามปากกา นอกจากนี้การมองผ่านกล้องด้วยความละเอียดของกล้องที่สูงถึง 4K ก็จะช่วยให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดภายในร่างกายของผู้ป่วยได้ชัดเจนกว่าการมองด้วยตาเปล่าในการผ่าตัดแบบเดิม และยังสามารถแยกแยะเนื้อเยื่อได้ดีขึ้นด้วย

ปัจจุบันการผ่าตัดแบบส่องกล้องจึงกลายเป็นวิธีการรักษาแบบมาตรฐานสําหรับบางอวัยวะและบางโรค เช่น การผ่าตัดถุงน้ําดี (ยกเว้นกรณีที่มี ภาวะอักเสบแบบฉุกเฉิน) และการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ซึ่งต้องใช้วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องกับผู้ป่วยโรคอ้วนทุกราย อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ใช้กับอวัยวะที่มีความซับซ้อน และยากต่อการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม ได้แก่ ตับ ซึ่งเป็นอวัยวะชิ้นใหญ่ มีความแข็งกว่าอวัยวะอื่นและเต็มไปด้วยเส้นเลือด

นอกจากนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับบริเวณที่มองเห็นแผลผ่าตัดได้ง่าย เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ ในอดีตศัลยแพทย์จะต้องผ่าบริเวณคอและผ่านเข้าไปในกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทิ้งรอยแผลเป็นขนาดใหญ่เอาไว้ แต่ปัจจุบันการผ่าตัดแบบส่องกล้อง จะใช้วิธีเจาะเครื่องมือผ่านบริเวณรักแร้ หน้าอก หรือเต้านม เสมือนขุดอุโมงค์มาถึงคอแล้วตัดซีสต์หรือเนื้องอกออก นอกจากจะช่วยให้ไม่ให้เกิดรอยแผลที่คอแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วและลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น อาการเสียงแหบ หรือการติดเชื้ออื่นๆ ได้อีกด้วย

รศ.นพ.สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่าอีกหนึ่งโรคที่ใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้องแล้วได้ผลดี ก็คือโรคอ้วน กลุ่มโรคอ้วนผิดปกติ หมายถึง ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น โดยจะอาศัยหลักการในการรักษา 2 อย่าง คือการลดขนาดกระเพาะและการลดการดูดซึม ซึ่งทั้งสองหลักการดังกล่าวสามารถใช้การผ่าตัดได้ 3 วิธี คือ การรัดกระเพาะ การตัดกระเพาะส่วนที่ขยายออก และการตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร และบายพาสลําไส้ วิธีสุดท้ายนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดเพราะจะทําให้กระเพาะมีขนาดเล็กลง และการบายพาสลําไส้จะทําให้น้ําย่อยและอาหารพบกันในระดับที่ไกลลงไปอีก 150 เซนติเมตร

แม้ว่าในอดีตค่าใช้จ่ายสําหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นจะค่อนข้างสูงกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ก็ส่งผลให้ต้นทุนของอุปกรณ์ทางการแพทย์มีราคาถูกลงไปกว่าเดิมมากอีกทั้งอุปกรณ์ยังได้รับการออกแบบให้สามารถฆ่าเชื้อโรคและนํากลับมาใช้ใหม่ได้ ทําให้ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแบบส่องกล้องและการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิมไม่ต่างกันมากนัก หากเปรียบเทียบกันด้วยผลการผ่าตัดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าวิธีผ่าตัดแบบเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์