ฝ่ายศัลยศาสตร์ เป็นฝ่ายบุกเบิกที่เติบโตควบคู่มากับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับตั้งแต่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เริ่มเปิดทำการในปี พ.ศ. 2457 ภายใต้ชื่อแผนกผ่าตัด ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แผนกแรกของโรงพยาบาล ซึ่งได้แก่ แผนกผ่าตัด แผนกตรวจคนเจ็บไข้ แผนกรักษาพยาบาล แผนกบัคเตรี และแผนกคลังยา ทั้งนี้ ฝ่ายศัลยศาสตร์ ได้รับการวางรากฐานโดยศัลยแพทย์และผู้อํานวยการคนแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
บทบาทของศัลยศาสตร์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดย นายแพทย์ เอฟ เซเฟอร์ ศัลยแพทย์จากประเทศเยอรมนี หลังได้รับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้เป็นผู้อํานวยการท่านแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ท่านเป็นผู้วางรายละเอียดการก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ทันสมัยให้แก่โรงพยาบาล ได้แก่ เครื่องฉายรังสีรอนท์เก้นเครื่องแรกของประเทศไทย ซึ่งมีใช้ก่อนโรงพยาบาลอื่น ๆ นับสิบปี อีกทั้งเครื่องแช่น้ำไฟฟ้า การตรวจเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการมีธาตุเรดิอุม (แร่เรเดียม) ไว้ใช้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าท่านมีจุดมุ่งหมายให้งานด้านศัลยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ท่านเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ และพระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกท่านแรกในช่วงปี พ.ศ. 2460
สำหรับตึกในโรงพยาบาลในยุคเริ่มแรกประกอบด้วยตึกที่ว่าการสำหรับเป็นที่ตรวจโรคและประกอบการค้นเชื้อโรค เป็นที่สั่งสอนวิชาแก่แพทย์ (ปัจจุบันคือ อาคารอำนวยการ) อาคารที่ทำการผ่าตัด และอาคารที่พักคนเจ็บไข้ 2 หลัง คือ อาคารพาหุรัด (บริเวณที่เป็นอาคาร
สิรินธรในปัจจุบัน) และอาคารวชิรุณหิศ ต่อมาจึงมีการสร้างอาคารที่เกี่ยวข้องกับแผนกผ่าตัดเพิ่ม ได้แก่ อาคารปัญจมราชินี (พ.ศ. 2459) อาคารจักรพงษ์ (พ.ศ. 2466) และอาคารอาทร (พ.ศ. 2473)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ชื่อว่าเป็นที่ชุมนุมของศัลยแพทย์ฝีมือเยี่ยมแห่งกรุงสยาม อาทิ ม.จ.วัลภากร วรวรรณ จากรัสเซีย หลวงภิษักศัลยกิจ (ดิ๊ก สิงหทัต) หลวงไวทเยศรางกูล (เชื้อ อิศรางกูร ณ อยุธยา) จากอังกฤษ หลวงประจักษ์เวชสิทธิ (ชุ่ม จิตรเมตตา) เป็นวิสัญญีแพทย์ หลวงโกศลเวชชศาสตร์ (สิ่นสุวงศ์) จากอังกฤษ หลวงเชิดบูรณศิริ (เชิด บูรณศิริ) หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ (นิตย์ เปาเวทย์) จากสหรัฐอเมริกา และพระศัลยเวทย์วิศิษฏ์ (สาย คชเสนีย์)
เมื่อคณะแพทยศาสตร์ได้เริ่มทำการสอน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี พ.ศ. 2490 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกคนแรก คือ ศาสตราจารย์พลตรีดำรงแพทยาคุณ และมีแพทย์ประจำแผนกอีก 6 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์พันตรีประจักษ์ ทองประเสริฐ นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ นายแพทย์พงษ์ ตันสถิตย์ นายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ นายแพทย์เล็ก ณ นคร โดยทั้ง 7 ท่านนี้สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 จึงได้โอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน
ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการเติบโตและพัฒนาเรื่อยมา มีการทำผ่าตัดหลายชนิดเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย สามารถผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศ ผลิตบัณฑิตแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากมายออกสู่สังคม มีการขยายขอบเขตงานทางศัลยศาสตร์แตกออกเป็นแขนงต่าง ๆ โดยปัจจุบันโครงสร้างของฝ่ายแบ่งออกเป็นหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไปจำนวน 4 หน่วยงาน และหน่วยศัลยศาสตร์เฉพาะทางอีก 6 หน่วยงาน
เจตจำนง
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย /ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตแพทย์และแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณภาพ ผลิตงานวิจัยและมีการให้บริการทางวิชาการที่มีคุณค่า ชี้นำสังคม เป็นแหล่งอ้างอิงระดับชาติ และเป็นอันดับหนึ่งในประเทศ
ภาระหน้าที่
มุ่งมั่นพัฒนาในด้านการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการแก่สังคม เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและประโยชน์สูงสุดต่อวงการสาธารณสุขของประเทศและสังคมโดยรวม
ฝ่ายศัลยศาสตร์ แบ่งออกเป็น 10หน่วยงานย่อย ได้แก่
- หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป สาย G1
- หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป สาย G2 หน่วยศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ (Trauma) และหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด (Vascular)
- หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป สาย G3
- หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป สาย G4
- หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ
- หน่วยศัลยศาสตร์ลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
- หน่วยประสาทศัลยศาสตร์
- หน่วยกุมารศัลยศาสตร์
- หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง
- หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ
การให้บริการของฝ่าย
ฝ่ายศัลยศาสตร์ ได้เปิดให้บริการผ่าตัดรักษาพยาบาลด้านศัลยกรรมซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการรักษา รวมถึงการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่และเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาวิธีการรักษา โดยเปิดให้บริการทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน และก็ยังได้จัดตั้งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางแยกย่อยอีกประมาณ 6 หน่วย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนของโรคมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้บริการในแง่ของการเผยแพร่ความรู้ด้านศัลยศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย