การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโลหิต
เหมาะสำหรับเด็กที่เป็นโรคเลือดและมะเร็งบางชนิด เช่น
- โรคเม็ดเลือดขาว
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือด
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดรุนแรง
ขั้นตอนการรักษา
- รับการตรวจวินิจฉัยและประเมินความเหมาะสม
- หาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิต ได้แก่ พี่น้องร่วมบิดา มารดา หรือผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้กับผู้ป่วยและมีสุขภาพแข็งแรง
- เก็บเซลล์ต้นกำเนิด
- รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน
- ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดผ่านทางหลอดเลือดดำไปยังไขกระดูก เพื่อสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่
ข้อพึงระวังและผลข้างเคียง
- อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
- อาจเกิดการปฏิเสธเซลล์บริจาค ซึ่งต้องการการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
- ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น การเกิดภาวะที่เซลล์บริจาคโจมตีเนื้อเยื่อของผู้รับ
การรักษาด้วย CAR T-cell ในเด็ก
เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด B-cell ที่มีการดื้อยาหรือกลับมาเป็นซ้ำ หลังการรักษามักมีการตอบสนองที่ดีและสามารถหายขาดจากโรคที่รักษายาก หรือโรคที่กลับเป็นซ้ำได้
ขั้นตอนการรักษา
- เก็บเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell จากเลือดของผู้ป่วย
- ใช้วิธีทางพันธุกรรมเพื่อดัดแปลง T-cell ให้มีตัวรับแอนติเจน (CAR) ที่ทำลายเซลล์มะเร็งได้
- เพิ่มจำนวน T-cell ที่ดัดแปลงพันธุกรรมแล้วในห้องปฏิบัติการ
- ฉีด T-cell ที่ดัดแปลงพันธุกรรมกลับเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้เซลล์เหล่านี้โจมตีเซลล์มะเร็ง
การรักษาโรคเลือดและมะเร็งเด็ก ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตและการรักษาด้วยเซลล์บำบัด เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสหายขาดจากโรคที่ยากต่อการรักษา ให้ผู้ป่วยเด็กเติบโตได้ไม่ต่างจากเด็กปกติ
ข้อมูลโดย : อ.พญ.กาญจน์หทัย เชียงทอง
หน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก
ข้อมูล ณ วันที่ : 18 กันยายน 2567