ผศ.นพ.ณัฐ ตันศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงขั้นตอนการชันสูตรศพในปัจจุบันว่าเมื่อมีผู้พบศพแล้วแจ้งต่อเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าพนักงานจะเข้าตรวจสอบพื้นที่และสภาพศพ หากพบว่าการตายนั้นผิดธรรมชาติ จะแจ้งไปยังแพทย์นิติเวชให้เข้ามาร่วมในการชันสูตรศพ ซึ่งในบางกรณีจะมีตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้วย เมื่อแพทย์นิติเวชชันสูตรศพและเห็นพ้องกับเจ้าพนักงานว่าต้องมีการผ่าชันสูตรศพเพิ่มเติม ก็จะดำเนินการส่งศพนั้นไปผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตหรือประเด็นอื่นๆ ตามที่ผู้เกี่ยวข้องสงสัยหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้
เมื่อศพมาถึงโรงพยาบาล ก็จะนำศพเก็บในห้องเย็นหรือตู้เย็น เนื่องจากสภาพอากาศในประเทศไทยเป็นเมืองร้อนส่งผลให้ศพเน่าเร็วกว่าปกติจากนั้นแพทย์นิติเวชจะนำศพออกมาตรวจชันสูตร ในขั้นตอนนี้จะมีการตรวจและบันทึกบาดแผลภายนอกที่สำคัญ มีการผ่าชันสูตรร่างผู้ตายเพื่อตรวจพยาธิสภาพและการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน รวมถึงเก็บชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ มีการเจาะเลือด เก็บปัสสาวะและสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างผู้ตายเพื่อนำไปตรวจหาสารพิษ สารพันธุกรรม หรือสารอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายหลังขั้นตอนการผ่าชันสูตรศพนี้ แพทย์นิติเวชอาจยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ ต้องรอผลการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อสรุปสาเหตุการตาย
ขั้นตอนการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1) ชิ้นเนื้อจากอวัยวะต่างๆ นำไปดองในน้ำยาและตัดย้อมสีเพื่อตรวจหารอยโรคหรือความผิดปกติผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ใช้เวลาอย่างเร็วประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ กรณีที่ชิ้นเนื้อมีขนาดใหญ่จะใช้เวลาที่นานขึ้น
2) การตรวจหายา สารพิษ สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากกระบวนการทำงานมีความซับซ้อน ต้องมีการสกัดที่เหมาะสมเพื่อดึงยาหรือสารพิษออกจากตัวอย่างที่ส่งตรวจก่อนนำไปเข้าเครื่องตรวจวิเคราะห์ การตรวจด้วยเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการก็มีความแตกต่างกันในยาหรือสารพิษแต่ละประเภท อีกทั้งยังต้องมีการทดสอบซ้ำเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตรวจวิเคราะห์มีความถูกต้อง โดยใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์
3) การตรวจอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ในการพิสูจน์บุคคล ปกติจะใช้เวลาตรวจพิสูจน์ประมาณ 1 สัปดาห์ หากเป็นการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในรูปแบบที่แตกต่างไปจากงานปกติ เช่น การตรวจสารพันธุกรรมบนโครโมโซมเพศชาย หรือสารพันธุกรรมบ่งชี้การสืบเชื้อสายทางมารดาจะใช้เวลาในการตรวจนานขึ้น
ผศ.นพ.ณัฐ กล่าวว่า ในกรณีทั่วไปแพทย์นิติเวชจะส่งตรวจเฉพาะข้อ 1) และข้อ 2) เท่านั้น ซึ่งขั้นตอนในการตรวจหาสารพิษและสารเสพติดนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและใช้เวลาตรวจนาน เนื่องจากค่าเครื่องมือ ค่าบำรุงรักษา ค่าสารมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจมีราคาสูง อีกทั้งประเทศไทยยังมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนน้อย และเครื่องมือตรวจวิเคราะห์รุ่นใหม่ที่มีความไวสูงมีเฉพาะในสถาบันหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ บางกรณีหากเป็น
การตรวจสารเสพติดรุ่นใหม่หรือสารที่พบได้ไม่บ่อยนักก็อาจใช้เวลาตรวจวิเคราะห์นานขึ้นถึง 1 – 3 เดือนเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดแล้ว แพทย์นิติเวชจะนำผลการตรวจทั้งหมดมาสรุปจัดทำเป็นรายงานการชันสูตรศพฉบับสมบูรณ์เพื่อส่งให้ตำรวจนำไปประกอบสำนวนคดีต่อไป จากขั้นตอนทั้งหมดข้างต้น การสรุปสาเหตุการเสียชีวิตและออกรายงานการชันสูตรศพฉบับสมบูรณ์อาจต้องใช้เวลานานราว 3 – 4 สัปดาห์ บางกรณีแม้จะมีการผ่าชันสูตรศพรวมถึงได้ผลจากการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมาแล้วก็ตาม แพทย์นิติเวชก็ไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้ว่าเสียชีวิตด้วยเหตุใดยังต้องอาศัยข้อมูลจากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจมาประกอบเพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติม กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องนำข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน ประกอบกับรายงานของแพทย์นิติเวชและรายงานของตำรวจพิสูจน์หลักฐานมาสรุปสำนวนคดีซึ่งระยะเวลาที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละคดี
ผศ.นพ.ณัฐ ชี้แจงว่า แพทย์นิติเวชเป็นเพียงฟันเฟืองตัวหนึ่ง ยังมีผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานอีกมากมาย เช่น นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร ช่างภาพ และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมงานชันสูตรศพ ซึ่งหากปราศจากผู้สนับสนุนการทำงานเหล่านี้แล้ว ความจริงก็มิอาจปรากฏขึ้นได้ ทั้งนี้งานด้านนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์เป็นงานที่ต้องทำตามมาตรฐานด้วยความละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพราะการวินิจฉัยของแพทย์นิติเวชจะส่งผลต่อทั้งคู่ความในคดีและสังคมโดยรวม