“จะเป็นไปได้หรือไม่…หากคนไทยสามารถพัฒนาและผลิตยาแอนติบอดี
สำหรับรักษามะเร็งเพื่อลดต้นทุนจากเดิมที่มีราคาสูง
ถึง 200,000 บาทต่อเข็ม ให้เหลือเพียง 20,000 บาทต่อเข็ม”
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งและกลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดี้เพื่อรักษามะเร็ง (Therapeutic Antibody Research and Development)คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามพัฒนาและผลิตยาแอนติบอดีรักษามะเร็งให้สำเร็จเพื่อคนไทย คอลัมน์ “บอกเล่าก้าวทันหมอ” ฉบับนี้ จึงไม่พลาดที่จะนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับกลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง ที่มี อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล เป็นหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่ออัปเดตเรื่องราวและประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้
อ.นพ.ไตรรักษ์ อธิบายให้ฟังเบื้องต้นว่ายาแอนติบอดีคือ ยาประเภทไบโอโลจิกส์ (Biologics) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศมีใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มนำเอายาแอนติบอดีนี้มาใช้ร่วมกับวิธีการรักษาแบบเดิมๆ เพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ แล้ว แต่เนื่องจากยาแอนติบอดีมีราคาสูงเกินกว่าที่ประชาชนทุกคนจะเข้าถึงได้ ด้วยเหตนี้กลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดี้เพื่อรักษามะเร็ง จึงมีเป้าประสงค์หลักที่ต้องการผลิตยาที่มีราคาถูกและดีให้กับประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อให้ได้ยาแอนติบอดีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ เพราะการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งเป็นวิธีการรักษาแห่งอนาคตซึ่งเป็นความหวังที่มนุษย์เราจะเอาชนะโรคมะเร็งได้
ภารกิจหลักของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คือ การทำยาต้นแบบแอนติบอดีต่อโปรตีน PD-1 ซึ่งเป็นการวิจัยที่ต่อยอดจากศาสตราจารย์เจมส์ พี. อัลลิสัน (James P. Allison) และ ศาสตราจารย์ทาสุคุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2018 ที่ค้นพบกลไกการยับยั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวโดยเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาแอนติบอดีต้านมะเร็งนี้จะเข้าไปช่วยทำให้ระบบการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและกลับมากำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเทียบเท่ากับการรักษาแบบเดิมๆ
สำหรับกระบวนการพัฒนายาแอนติบอดีนั้นมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนกว่าจะผลิตออกมาเป็นยาแอนดิบอดีให้คนไทยได้ใช้รักษามะเร็ง ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : การผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู ทำการผลิตคัดเลือก และทดสอบยาต้นแบบจากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนูมากกว่าหนึ่งแสนแบบ ในขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งทางศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จได้ยาแอนติบอดีต้นแบบตัวแรกที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาแอนติบอดีในท้องตลาดจากต่างประเทศ
ระยะที่ 2 : ปรับปรุงยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู ให้คล้ายกับโปรตีนของมนุษย์และเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น โดยจะใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน
ระยะที่ 3 : เมื่อได้ยาแอนติบอดีต้นแบบที่ปรับปรุงแล้ว จะต้องนำมาทดสอบประสิทธิภาพการรักษามะเร็งในสัตว์ทดลองแล้วดำเนินการผลิตยาแอนติบอดีในปริมาณมากจากโรงงานให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงสุด ในขั้นตอนนี้จะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลา 18 – 24 เดือน
ระยะที่ 4 : ทดสอบยาแอนติบอดีที่ผลิตได้ในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูและลิง โดยจะทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ต่อไป คาดว่าจะใช้งบประมาณ 100 – 200 ล้านบาท และมีกำหนดระยะเวลา 20 – 24 เดือน
ระยะที่ 5 : การทดสอบในมนุษย์ เป็นการทดสอบยาแอนติบอดีในผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการให้ยา ประสิทธิภาพการรักษาผลข้างเคียง เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีกำหนดระยะเวลา 48 – 60 เดือน
ขณะนี้ทีมวิจัยทั้งหมดมีความมุ่งมั่นในการพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็งต้นแบบระยะที่ 1 ที่มีคุณสมบัติดีพร้อมที่จะเข้าสู่การพัฒนาในระยะที่ 2 ต่อไป
และคาดหวังว่าในอนาคตผู้ป่วยมะเร็งคนไทยจะมีทางเลือกในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เข้าถึงได้ อ.นพ.ไตรรักษ์ กล่าวเสริมอีกว่า การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดยังใช้ได้ผลดีกับมะเร็งบางชนิดเท่านั้น ทีมงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งก็คาดหวังว่าจะสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่จะให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งการเดินหน้าโครงการวิจัยยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ไม่เพียงช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จในวงการแพทย์เท่านั้น ยังเป็นการสร้างความตระหนักและเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนอีกด้วย
นอกจากนี้ ทีมแพทย์และนักวิจัยผู้ดำเนินโครงการได้จัดทำรายงานความคืบหน้าของโครงการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้ผ่านทาง Facebook Page @CUCancerIEC
ฉบับหน้า เตรียมพบกับกลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cancer Cellular Immunotherapy) ที่จะมาบอกเล่าการวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยมีทางเลือกใหม่ในการรักษา มีคุณภาพชีวิตที่ดี อายุยืนยาวขึ้น ได้ในคอลัมน์ “บอกเล่าก้าวทันหมอ”
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากทุนสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งด้านภูมิคุ้มกันบำบัด โดยแบ่งกลุ่มวิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง (Therapeutic AntibodyResearch and Development)
2. กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cancer Cellular Immunotherapy)
3. กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง (Neoantigen and Cancer Vaccine)
กลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง (Therapeutic Antibody Research and Development)
1. ดร.Michael Payne นักวิจัยอาวุโสจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้คำปรึกษา และวางแผนงานในการทำวิจัยพัฒนายาแอนติบอดี
2. ดร.ทมยันต์ พฤกษะริตานนท์ นักวิจัยผู้มีประสบการณ์การทำงานด้าน Drug metabolism และ Pharmacokinetics ในบริษัท Merck Research Laboratories ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการ
3. นายชาติกร บุญไกร หัวหน้าทีมวิจัย รับผิดชอบการวางแผนงานวิจัยและเป็นผู้นำในการปฏิบัติการวิจัย
4. ดร.ทศพล วงศ์ทางประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสกัดและทดสอบคุณสมบัติยาแอนติบอดี
5. นายธนปติ ผาคำ รับผิดชอบการสร้างระบบผลิตยาแอนติบอดีจากเซลล์สิ่งมีชีวิต
6. น.ส.ฑิตยา อุดมสรรพ์ รับผิดชอบการทำวิจัยในสัตว์ทดลอง รวมทั้งทำการผลิต เพาะเลี้ยง และคัดเลือกเซลล์ที่ผลิตยาแอนติบอดี
7. น.ส.สวรส วรปัญญาภรณ์ ช่วยทำการวิจัยในส่วนต่างๆ รวมทั้งจัดเตรียมและดูแลวัสดุและเครื่องมือวิจัยต่างๆ ในศูนย์วิจัย
8. น.ส.จิรภัทร เตชะชาคริต ช่วยทำการวิจัยในส่วนต่างๆ รวมทั้งจัดเตรียมและดูแลวัสดุและเครื่องมือวิจัยต่างๆในศูนย์วิจัย
สำหรับท่านที่ประสงค์จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สามารถร่วมสมทบทุนผ่านบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย
ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)
เลขที่บัญชี 408-004443-4 (ออมทรัพย์) หรือ เลขที่บัญชี 045-304669-7 (กระแสรายวัน)
ท่านสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการระยะยาวนี้ จะมีคุณประโยชน์แก่ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย
จำนวนมาก