มะเร็งท่อน้ำดีเป็นก้อนเนื้อร้ายที่พบที่ท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยอีกด้วย
สาเหตุของโรค
มะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากหลายสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด เช่น ก้อยปลา ปลาดิบ ปลาร้าที่ไม่สุก ภาวะที่มีความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีแต่กำเนิด เช่น โรคซีสต์ของทางเดินท่อน้ำดี ภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ภาวะตับแข็ง นอกจากนี้การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หรือประวัติมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี
อาการของโรค
มะเร็งท่อน้ำดีมักไม่แสดงอาการในระยะแรก เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาจมีอาการปรากฏให้เห็นดังต่อไปนี้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตันโดยเนื้องอก
- ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม อุจจาระสีซีดลง
- ปวดท้อง
- คันตามร่างกาย
- มีอาการอ่อนเพลีย หรือมีไข้
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
วิธีการรักษา
การรักษามะเร็งท่อน้ำดีขึ้นอยู่กับระยะของโรค ในระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่รักษาด้วยการผ่าตัด ในระยะลุกลาม รักษาด้วยเคมีบำบัด กรณีที่ผู้ป่วยมีตัวเหลืองตาเหลือง อาจพิจารณาใส่ท่อระบายทางเดินน้ำดี
สามารถติดต่อขอรับการรักษาและคำปรึกษาได้ที่
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 10
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4265