ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคตับเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยและพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลโดยตรงต่อ “ตับ” ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง แม้ว่าตับจะเป็นอวัยวะเพียงชิ้นเดียวในร่างกายที่มีความพิเศษ สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่ถูกทำลายไปได้ก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีกระบวนการฟื้นฟูตับที่เสียหาย เพื่อให้ตับสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ตามปกติซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นอกจากจะเชี่ยวชาญการรักษาผู้ป่วยโรคไตแล้ว ยังค้นพบเทคนิคพิเศษที่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคตับด้วยการฟอกตับได้อีกด้วย
รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย อธิบายถึงความสำคัญของตับว่า ตับมีหน้าที่ในการเก็บสารอาหารต่างๆ แล้วนำมาสร้างสารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น สารที่ทำหน้าที่สลายไขมันเพื่อช่วยในการย่อย สารที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว เป็นต้น ทั้งยังช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายอีกด้วย ดังนั้นหากตับเสื่อมสภาพ จะทำให้เกิดของเสียคั่งค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้แย่ลง เช่น ไต ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายจะทำงานหนักขึ้นจนนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ นี่คือความเชื่อมโยงของตับและไต หากแพทย์สามารถทำการรักษาตับเพื่อไม่ให้เสื่อมสภาพ จะเป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับผลกระทบต่อไป โดยปกติศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤตจะทำการรักษาผู้ป่วยด้วยการฟอกไตอยู่แล้ว จึงได้มีการนำเครื่องฟอกไตชนิดเดียวกันนี้มาดัดแปลงเทคนิคและเปลี่ยนจากน้ำยาฟอกไตเป็นน้ำยาฟอกตับ จนสามารถให้การรักษาผู้ป่วยโรคตับด้วยการฟอกตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในการฟอกตับนี้จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่าง ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุขและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตับ ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไตเพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วยภาวะตับวายเฉียบพลันเป็นไปอย่างได้ผล
มาตรฐานในการรักษาโรคตับวายเฉียบพลันนั้นมีการจำแนกอาการโดยแบ่งการรักษาออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. การรักษาด้วยยา ใช้กรณีที่สามารถค้นพบเหตุของตับวายเฉียบพลันได้ เช่น ยาต้านพิษกรณีมีเหตุจากรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดหรือใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีกรณีเหตุจากไวรัสบีหรือใช้ยาลดการอักเสบ กรณีเหตุจากโรคภูมิคุ้มกันตับทำลายตัวเอง
2. การฟอกตับ แบ่งออกได้ 2 กรณี คือ การรักษาในภาวะตับวายเฉียบพลัน และการประคับประคองตับที่เสียหายหนักเพื่อรอการปลูกถ่ายตับต่อไป
3. การปลูกถ่ายตับ ใช้ในกรณีที่ตับไม่สามารถใช้งานได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรอตับที่เหมาะสมเพื่อทำการปลูกถ่ายตับต่อไป
สาเหตุของโรคตับวายเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ได้แก่
♦ การรับประทานยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอล ส่งผลให้ตับทำงานหนักจนเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
♦ อาการป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus: HAV) และ บี (Hepatitis B Virus: HBV) ซึ่งก่อให้เกิดอาการตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และนำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลัน
♦ การรับประทานเห็ดพิษหรือสมุนไพร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
“ การฟอกตับจะช่วยทดแทนการทำงานของตับ เพื่อรอให้ตับฟื้นตัว
หรือช่วยประคับประคองตับที่เสียหายเพื่อรอการปลูกถ่ายตับต่อไป “
เมื่อสอบถามถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างของขั้นตอนการฟอกตับและการฟอกไตนั้น รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย กล่าวว่า ทั้ง 2 วิธีใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันที่เทคนิคและน้ำยาที่ใช้สำหรับการฟอกตับเท่านั้น ส่วนข้อแตกต่างอย่างชัดเจนในการฟอกตับและฟอกไต คือ การฟอกไตจะฟอกอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยไตวายในภาวะวิกฤต และผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ในขณะที่การฟอกตับจะทำเมื่อเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยไอซียูเท่านั้น ซึ่งการฟอกตับจะเป็นการช่วยทดแทนการทำงานของตับเพื่อรอให้ตับฟื้นตัว หรือเป็นการประคับประคองตับที่เสียหายเพื่อรอการปลูกถ่ายตับ บ่อยครั้งที่ในระหว่างฟอกตับผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องรอปลูกถ่ายตับ ระยะเวลาที่ใช้ในการฟอกตับแต่ละครั้งจะแตกต่างกันออกไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่รับประทานยาเกินขนาดจนทำให้ตับวายเฉียบพลัน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการฟอกตับอาจเสียชีวิตได้ แต่การฟอกตับสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 3 วัน กล่าวได้ว่าการฟอกตับช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง
นอกจากการรักษาผู้ป่วยด้วยการฟอกตับแล้ว อ.นพ.สดุดี พีรพรรัตนา แพทย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯ จำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้และเทคนิควิธีการฟอกตับให้มากยิ่งขึ้น แม้ว่าการฟอกตับจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในปัจจุบัน ดังนั้นในฐานะโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของศูนย์ฯ ที่จะต้องเผยแพร่เทคนิคนี้เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งล้วนมีเครื่องมือสำหรับฟอกไตอยู่แล้ว สามารถดัดแปลงเครื่องมือดังกล่าวให้สามารถฟอกตับได้ด้วย โดยในการฟอกตับนั้นจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตับและด้านไต ซึ่งจะช่วยให้ผ้ปู่วยที่มีภาวะตับวายสามารถเข้าถึงการรักษานี้ได้ และช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผ้ปู ่วยอีกด้วย ดังเช่นในกรณีของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีการติดเชื้อ ส่งผลให้ตับซึ่งทำหน้าที่สร้างสารสำคัญที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวไม่สามารถทำงานได้ ทำให้เกิดตับอักเสบรุนแรงจนส่งผลให้เกิดภาวะตับวายได้ หากโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถทำการฟอกตับได้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะตับวายเข้ารับการรักษามากที่สุดในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นศูนย์กลางในการอบรมแพทย์ที่สนใจเทคนิคการฟอกตับทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น แพทย์จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์ฯ โดยจะมีการจัดอบรมในทุกๆ 2 ปี ช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องเทคนิคการฟอกตับ รวมถึงได้จัดทำตำราการฟอกไตและการฟอกตับฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นเล่มแรกของประเทศอีกด้วย พร้อมกันนี้ ศูนย์ฯ ยังเปิดช่องทางในการให้คำปรึกษาแก่ทีมแพทย์ทั่วประเทศที่ต้องการทราบเทคนิคการฟอกตับด้วยเครื่องฟอกไตของโรงพยาบาลที่มีอยู่ทั่วไปให้สามารถดัดแปลงมาทำการฟอกตับได้อย่างทันท่วงที เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากอาการเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
” ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมแพทย์
เรื่องเทคนิคการฟอกไตและตับทั้งในและต่างประเทศ “
แม้ว่าการฟอกตับจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาภาวะตับวายเฉียบพลัน แต่การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า อ.ดร.พญ.ณัฏฐา ล้ำเลิศกุล แพทย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมว่า นอกจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ก่อให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันแล้ว ประชาชนควรป้องกันตนเองด้วยการลดการดื่มสุรา เพื่อลดตับแข็งที่ทำให้เกิดโรคตับเรื้อรังและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้ สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานเห็ด ควรตรวจสอบชนิดของเห็ดก่อนจะรับประทานอย่างละเอียดเพราะอาจเป็นเห็ดพิษ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้ทันทีรวมถึงยาสมุนไพรบางชนิดที่วางจำหน่ายในท้องตลาดด้วย
รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย กล่าวสรุปว่า นอกจากการป้องกัน การรักษา และการฝึกอบรมทางการแพทย์เพื่อให้แพทย์สามารถใช้วิธีการฟอกตับรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังมุ่งมั่นในการทำวิจัยในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะสามารถผลักดันให้การรักษาด้วยวิธีการฟอกตับเป็นการศึกษาที่อยู่ใน Randomized Control Trial (RCT) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดพ้นจากภาวะตับวายเฉียบพลันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจเข้ารับการอบรม :
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ : (02) 256 4000 ต่อ 3597
Facebook Fanpage : ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต