โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ธนาคารอสุจิ ธนาคารแห่งความหวังของผู้มีบุตรยาก

ทางออกของผู้ที่ต้องการเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ไว้ในอนาคตสำหรับฝ่ายหญิงจะใช้วิธีฝากไข่ ในฝ่ายชายจะฝากสเปิร์มหรืออสุจิแช่แข็งไว้ ที่เรียกกันว่า “ธนาคารอสุจิ” ซึ่งสถานที่ตั้งของธนาคารอสุจิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งอยู่ ณ ชั้น 11 อาคารนวมินทราชินี โดยมี รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ หัวหน้าหน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ และ น.ส.จิราพรณ์ เหงี่ยมวิจาวัฒน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการอสุจิ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านจะมาแบ่งปันข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับธนาคารอสุจิ


รศ.นพ.วิสันต์ กล่าวว่า ธนาคารอสุจิก่อตั้งโดย ศ.นพ.อเนก อารีพรรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มก่อตั้งและดำเนินการธนาคารอสุจิ และเนื่องจากธนาคารอสุจิของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้บริการมากว่า 37 ปี หลายคนจึงทราบว่าธนาคารอสุจิเป็นที่สำหรับเก็บรักษาตัวอสุจิ ซึ่งอสุจิที่เก็บจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ อสุจิจากผู้บริจาคที่ไม่แสดงตัว และอสุจิจากผู้ป่วยชายที่ต้องการเก็บอสุจิไว้ โดยอสุจิจากผู้ป่วยชายนั้นต้องเข้าข่ายหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ จึงจะสามารถฝากอสุจิได้

  1. อสุจิจากฝ่ายชายที่ต้องการเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ของตนเองไว้ โดย เมื่อจะนำมาใช้ในภายหลัง จะต้องใช้เฉพาะกับภรรยาที่มีทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ได้แก่
    • กรณีฝ่ายชายที่ไม่สามารถเข้ามาเก็บอสุจิในวันที่จะใช้ปฏิสนธิกับไข่ของภรรยา
    • กรณีฝ่ายชายต้องเข้ารับการรักษาโรคประจ􀁬ำตัวที่ต้องมีการผ่าตัดอัณฑะ ฉายแส
  2. อสุจิจากผู้ที่ต้องการบริจาคเพื่อให้คู่สมรสที่มีความจำเป็นต้องใช้อสุจิบริจาค เช่น กรณีสามีไม่มีอสุจินำมาใช้ปฏิสนธิเพื่อให้ภรรยาตั้งครรภ์ โดยมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดควบคุมเพื่อไม่ให้เป็นการซื้อขายกันและใช้ในกรณีจำเป็นมากๆ เท่านั้น กฏหมายในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้คู้รักเพศเดียวกันใช้อสุจิบริจาคได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มาปรึกษาและขอรับบริการเก็บอสุจิแช่แข็งกับธนาคารอสุจิ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีประมาณ 40 – 50 รายต่อปี ส่วนผู้บริจาคใหม่จะมี
ประมาณ 25 – 30 รายต่อปี

สำหรับขั้นตอนการฝากอสุจิ รศ.นพ.วิสันต์ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ผู้ที่ต้องการฝากอสุจิจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดและตรวจอสุจิ เพื่อคัดกรองว่าสามารถฝากอสุจิได้หรือไม่ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งอสุจิ โดยฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิออกมาและนำมาผสมกับน้ำยาแช่แข็งในอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส ให้เข้ากันแล้วผ่านกระบวนการลดอุณหภูมิให้เย็นลงเพื่อเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส โดยจะแช่แข็งไว้เพื่อรอเวลานำออกมาใช้ในภายหลังต่อไป ซึ่งอสุจินี้สามารถเก็บไว้ได้หลายปีแต่จะมีค่าใช้จ่ายในการเก็บอสุจิค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการเก็บอสุจิอยู่ที่ 2,000 บาท สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นหากต้องการเก็บอสุจิต่อ จะมีค่าใช้จ่ายในการต่ออายุการเก็บหลอดละ 200 บาทต่อปี

ปัจจุบัน นวัตกรรมทางการแพทย์ในการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ด้วยการผสมเทียมนั้นมีหลากหลายวิธี อีกทั้งมีสถานพยาบาลหลายแห่งเปิดให้บริการการผสมเทียมแก่คู่สมรสที่มีบุตรยาก แต่ธนาคารอสุจิแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ยังได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เนื่องด้วยเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ระดับตติยภูมิที่ไม่หยุดพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัยและการบริการทางการแพทย์แบบครบวงจร เพื่อให้เกิดการผลักดันคุณภาพการบริการให้เทียบเท่ามาตรฐานโลก ตลอดระยะเวลากว่า 37 ปี ของธนาคารอสุจิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องจนมีทารกที่เกิดจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยยืนยันได้จากการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถให้กำเนิดทารกเพศชายรายแรกเมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์เฉพาะทางจากหลายสาขาที่มีการต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ได้จริงทางคลินิกปฏิบัติ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากให้แก่คู่สมรสที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว ด้วยอัตราค่าบริการที่ย่อมเยาและเป็นธรรม คู่สมรสที่เข้ารับบริการจึงคลายความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ผู้เข้ารับบริการเดินทางมาได้สะดวก จึงทำให้ธนาคารอสุจิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แห่งนี้เป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ในการตัดสินใจเข้ารับบริการของคู่สมรสทั่วประเทศที่ประสบภาวะมีบุตรยาก

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์