การตรวจด้วยเครื่องคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) หรือ MRI คือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเครื่องจากคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะจะเข้าไปกระตุ้นระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ และวัดระดับพลังงานจากไฮโดรเจนอะตอมภายในร่างกายซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงตามขบวนการทางฟิสิกส์ที่เรียกว่าการกำทอน (Resonance) แล้วแปลงขึ้นเป็นภาพ ซึ่งข้อมูลจะมีความชัดเจนมากกว่าการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพราะสามารถระบุความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี ทำได้หลายระนาบ สร้างภาพ 3 มิติได้ และสามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบสมอง เช่น ตรวจหาโรคเนื้องอกในสมอง ระบบประสาท และกระดูกสันหลัง อีกทั้งมีเทคนิคการตรวจพิเศษหลากหลาย เช่น การตรวจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน การตรวจหาระดับชีวเคมีเพื่อแยกชนิดของก้อนเนื้อ และการตรวจหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- งดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ 6 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยนัดตรวจท้องส่วนบน (Liver + <R Elastrography) การตรวจท่อและถุงน้ำดี (MRCP) การตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Stress Cardiac MRI) และผู้ป่วยเด็กที่ต้องดมยาสลบ
- หากผู้ป่วยเข้าข่าย หรือ มีแนวโน้มจะเข้าข่ายกรณีต่อไปนี้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เวลามาทำนัด หรือก่อนการตรวจในทันที
- สตรีตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้สารทึบรังสี
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาอื่นๆ
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และลมบ้าหมู เป็นต้น
- ผู้ป่วยต้องมีผลการทำงานของไต (Creatinine) ก่อนการตรวจไม่เกิน 3 เดือน
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการนำโลหะ ได้แก่ เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเครดิต พวงกุญแจ เหรียญบาท หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นโลหะทั้งหมด ติดตัวเข้ามาในห้องตรวจรังสีด้วย รวมถึงผู้ป่วยสุภาพสตรีควรเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนเข้าห้องตรวจ โดยเฉพาะสีทาเปลือกตา (Eye shadow) และมาสคารา เนื่องจากมีส่วนผสมของโลหะ
วิธีการตรวจ
- ผู้ป่วยต้องนอนให้นิ่งที่สุดบนเตียงตรวจเพื่อคุณภาพของภาพที่สามารถนำไปวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และลดเวลาในการตรวจ โดยมีนักรังสีการแพทย์คอยให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการจัดท่านอน ควรงดพูดคุยระหว่างที่เครื่องกำลังทำงาน
- การตรวจช่องท้องหรือหัวใจ จะต้องมีการกลั้นหายใจผ่านคำสั่งทางไมโครโฟนเพื่อลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการซักซ้อมจากเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าห้องตรวจรังสี
- หากต้องมีการฉีดสารเปรียบเทียบความชัดเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยเน้นแยกรายละเอียดของโรค ผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนเข้าตรวจทุกครั้ง
- หลังตรวจผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการ MRI ได้ที่
- หน่วยงานธุรการบริการรังสีวิทยาวินิจฉัย อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2
โทรศัพท์ 02 256 4000 ต่อ 80201, 80202 หรือ กรณีนัดตรวจที่อาคารวัตบริบาล โทรศัพท์ 02 256 4778
เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดตามประกาศของราชการ)
- คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 16.00 – 19.00 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 07.00 – 16.00 น.