โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มาด้วยอาการไข้ออกผื่น พบมากในเด็กแต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ บางกรณีสามารถหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะไปหลบอยู่ที่ปมประสาทของผู้ป่วย และสามารถทำให้เกิดโรคงูสวัดได้หากผู้ป่วยรายนี้มีภูมิต้านทานลดลง

สาเหตุ

โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลล่า (varicella zoster virus) ซึ่งแพร่กระจายโดยการหายใจเอาฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไป หรืออาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ

อาการของโรค

หลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส อาการจะแสดงภายใน 8-21 วัน เริ่มจากมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและมีผื่นเริ่มจากลำตัว ใบหน้าและลามไปแขนขา อาจพบตุ่มขึ้นในช่องปากและเยื่อบุต่างๆได้ มักมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว และตกสะเก็ดจะหลุดหายไปในเวลา 5-20 วัน

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว  ผู้รับประทานยากดภูมิคุ้มกันต่างๆ

การรักษา

โรคนี้อาจหายเองได้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอาจทำให้ระยะการเป็นโรคสั้นลง ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง อาจให้ยาลดไข้กลุ่ม พาราเซทามอล  ไม่ควรใช้ยากลุ่มแอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไรย์ ( Reye’s  syndrome ) อาจใช้ยาทาในการรักษา เช่น คาลาไมน์เพื่อบรรเทาอาการคัน หรือยารับประทานกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกา เพราะอาจเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

วัคซีนสำหรับป้องกันโรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค ในผู้ใหญ่และเด็กอายุเกิน 12 ปี ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ วัคซีนเป็นชนิดเชื้อเป็นจึงมีข้อห้ามในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม พบว่าร้อยละ 99 ของผู้รับจะเกิดภูมิต้านทานต่อโรค

ปัจจุบันมีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัดด้วย ทำจากเชื้อวัคซีนเดียวกันแต่มีปริมาณของเชื้อมากกว่า มีที่ใช้ในผู้ที่อายุเกิน 60 ปี  เพื่อป้องกันโรคงูสวัด

สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่

แผนกผู้ป่วยนอก อาคาร ภปร ชั้น 1
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โทรศัพท์ 02 256 4000

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ ช่วยผ่าตัด

เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดในการรักษาโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก เสียเลือดน้อย และมีภาวะแทรกซ้อนต่ำ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น

รักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะยกระดับมาสู่ "เครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน"

5 โรคติดเชื้อในเด็กที่ควรระวังในฤดูหนาว

โรคติดเชื้อในเด็กในช่วงฤดูหนาวมี 3 กลุ่มโรคและ 5 โรคสำคัญคือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้แก่ โควิด-19 (COVID-19) โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV) โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า และโรคไข้ออกผื่นได้แก่ โรคอีสุกอีใส

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์