โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

โรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV)

โรคติดเชื้ออาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus, RSV) ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้แก่ หลอดลม หลอดลมส่วนปลาย และถุงลม พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งมักมีอาการรุนแรง

 

อาการของผู้ป่วย

เด็กที่ติดเชื้ออาร์เอสวีมักมีไข้ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หากติดเชื้อที่หลอดลม (หลอดลมอักเสบ) ผู้ป่วยจะมีอาการไอและมีเสมหะมาก หากติดเชื้อที่หลอดลมส่วนปลาย (หลอดลมส่วนปลายอักเสบ) และที่ถุงลม (ปอดอักเสบ) ผู้ป่วยจะมีอาการไอมาก มีเสมหะ และมีอาการเหนื่อยหอบ เมื่อหายจากโรคติดเชื้ออาร์เอสวี เด็กมีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรคหอบหืดในอนาคต

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้ออาร์เอสวี การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ แนะนำให้เช็ดตัวลดไข้และให้ดื่มน้ำมากๆ กินยาลดไข้ ยาขับเสมหะ และพ่นยาขยายหลอดลม หากดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอหรือมีอาการเหนื่อยหอบมาก อาจจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือด และพ่นยาขยายหลอดลม

การป้องกัน

โรคติดเชื้ออาร์เอสวีป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังสถานที่แออัด เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือส่งเด็กไปสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนก่อนวัยอันควร ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังคนรอบข้าง วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออาร์เอสวีกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย คาดว่าจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้

สามารถติดต่อขอรับการรักษาและคำปรึกษาได้ที่

อาคาร ภปร ชั้นล่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โทร 0-2256-5487

บทความที่เกี่ยวข้อง

รักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะยกระดับมาสู่ "เครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน"

5 โรคติดเชื้อในเด็กที่ควรระวังในฤดูหนาว

โรคติดเชื้อในเด็กในช่วงฤดูหนาวมี 3 กลุ่มโรคและ 5 โรคสำคัญคือ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้แก่ โควิด-19 (COVID-19) โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV) โรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า และโรคไข้ออกผื่นได้แก่ โรคอีสุกอีใส

รู้จักมะเร็งในช่องปาก

ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดโรค มะเร็งช่องปาก รวมถึงวิธีการรักษาและการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์