วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.00 น. ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดการแถลงข่าว “ความสำเร็จคลินิคภาวะหัวใจล้มเหลว” โดยมี นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายการแพทย์และวิจัย ศ.นพ. วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นางพรทิพย์ ควรคิด หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาจุฬาลงกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติ มี ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ หัวหน้าคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และ หัวหน้าอนุสาขาวิชาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นพ. สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ และรองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ นพ. เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้อง 200 ที่นั่ง ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลสนุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประกาศความสำเร็จคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว ชี้ช่วยลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล การเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถึง 70-80% ทั้งยังพบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 45 ปี พร้อมเดินหน้าตอบรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันให้จัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวภายในโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศไทย ด้วยโครงการ “Heart Connect” จัดอบรมองค์ความรู้สำหรับการจัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย
ศ. นพ. วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามที่ต้องการ จากผลกระทบของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วโรคความดันโลหิตสูง และ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวของคนไทยในช่วงวัยสูงอายุ รวมถึงวัยทำงานที่มักพบกับสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับความเร่งรีบ จนอาจละเลยการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอและมีความเครียดสูง ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจจนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ทั้งสิ้น โดยคาดว่าจำนวน 1 ใน 5ของประชากรไทยจะมีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวแฝงอยู่ ซึ่งผู้ป่วยจำนวนกว่า 50%มักจะเสียชีวิตภายใน 5 ปี ภายหลังจากตรวจพบอาการภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจำนวน 1 ใน 4 ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลด้วยภาวะน้ำท่วมปอดภายใน 30 วันแรกหลังออกจากโรงพยาบาล และประมาณ 50% ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 6 เดือน
ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ หัวหน้าคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และ หัวหน้าอนุสาขาวิชาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลวในสังคม จึงได้จัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure Clinic) ขึ้นในปี 2555 โดยมีพันธกิจในการรักษาผู้ป่วยอย่างละเอียดและใกล้ชิด เพื่อลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล การเสียชีวิต พร้อมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะล้มเหลวให้แก่ผู้ป่วยด้วย 5-6 ขั้นตอนการตรวจเช็คผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวของคลินิกฯ ดังนี้
1. การเดินบนพื้นราบ 6 นาที(6-minute walk test)เพื่อประเมินความสามารถและสมรรถนะการออกกำลังของผู้ป่วย
2. การตรวจเช็คการรับประทานยาของผู้ป่วยเพื่อตรวจเช็คการรับประทานยาที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
3. การตรวจเช็คสมุดจดน้ำหนักเพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักขึ้นเร็วหรือไม่ อาทิ การมีน้ำหนักขึ้นมากกว่า 2กิโลกรัม ภายใน 2 วัน เนื่องจากน้ำหนักเป็นข้อมูลสำคัญในการบ่งบอกถึงภาวะน้ำคั่ง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าหัวใจไม่สามารถบีบตัวหรือปั๊มเลือดได้เพียงพอ ดังนั้นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักทุกวัน
4. การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยและให้การรักษา
5. การรับคำแนะนำเพื่อการดูแลตนเอง โดยพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวและโรคต้นเหตุ พร้อมสอนวิธีการปฏิบัติตัว ได้แก่ การชั่งน้ำหนักทุกวันเพื่อดูภาวะน้ำคั่ง การตรวจเช็คตัวเองเพื่อทราบว่าเมื่อใดควรต้องมาพบแพทย์ทันที การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจเพิ่มเติมพิเศษ การมาตามนัด และ ติดตามอาการของผู้ป่วยที่บ้านอย่างใกล้ชิดรวมถึงเป็นผู้ประสานระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
นักโภชนาการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคโซเดียมในอาหารและประกอบอาหาร รวมถึงสอนการอ่านฉลากเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในร่างกาย เภสัชกร เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยา ความสำคัญของยา และ ตรวจสอบการรับประทานยาที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ
6. การตรวจเช็คครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในบางราย สำหรับผู้ที่มีการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
นพ. สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ และรองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภายหลังการดำเนินงานมาตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี คลินิกฯ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ พบว่าสถิติผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาจำนวนกว่า 70% – 80 % เป็นเพศชาย และหากแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามช่วงอายุโดยไม่แบ่งเพศก็จะเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปีมากที่สุด ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 45 ปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ในผู้ป่วยอายุน้อยมาจากผลกระทบของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ขณะที่สาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยสูงอายุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้จากการรักษาหรือดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมและใกล้ชิดของคลินิกฯ นั้นสามารถช่วยลดอัตราการนอนรักษาในโรงพยาบาล การเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวของผู้ป่วยได้มากถึง 80%
นพ. เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ริเริ่มนโยบายผลักดันให้จัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวภายในโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศไทยในปี 2559 โดยมุ่งลดอัตราเพิ่มการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว อีกทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างเหมาะสม จึงมีความตั้งใจที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการผลักดันนโยบายฯ ให้กลายเป็นจริงและก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยผ่านการจัดตั้งโครงการ “Heart Connect”ด้วยการเปิดอบรมขยายองค์ความรู้ในการจัดตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการอบรมไปแล้วกว่า 15 โรงพยาบาล อาทิ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ชลบุรี รพ. พิจิตร รพ. พระนครศรีอยุธยา และ รพ. พระปกเกล้าจันทบุรี เป็นต้น
“แต่ละโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการอบรมต่างประสบความสำเร็จในการจัดตั้งคลินิก การนำไปพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ป่วยเป็นอย่างดี ทั้งยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายรับส่งตัวผู้ป่วยอาการหนักจากโรงพยาบาลเครือข่ายและโรงพยาบาลรอบนอกในการรับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสูง เช่น การผ่าตัดปลูกถ่าย (เปลี่ยน) หัวใจ หรือการฝังเครื่องพยุงหัวใจเทียมชนิดถาวร (Left ventricular assist device) หรือการให้ยากระตุ้นหัวใจที่บ้าน (Home inotrope program) นอกจากนี้ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการโครงการดีๆ นี้ต่อไปในปี 2561 อีกด้วย” นพ. เอกราช กล่าว