โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ศูนย์ฝึกกู้ชีพ และฝึกทักษะเสมือนจริง

ปัจจุบัน ในแต่ละวันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งหลายท่านเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและซับซ้อน หรือบางรายประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นได้</p

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเสี่ยงดังกล่าว จึงจัดตั้งศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง (Simulation & CPR Center) ขึ้น เพื่อพัฒนามาตรฐานของโรงพยาบาลและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในโรงพยาบาลให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ที่สุด

นับเป็นโอกาสอันดีที่วารสาร ฬ จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริงแห่งนี้ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.นพ.ตุลชัย อินทรัมพรรย์ กรรมการศูนย์ฝึกสอนการกู้ชีพ และ ผศ.(พิเศษ)นพ.ธรรมศักดิ์ ทวิชศรี ผู้แทนจากคณะกรรมการพัฒนาระบบปฏิบัติการกู้ชีพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ที่จะมาร่วมพูดคุยและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ฯ แห่งนี้ค่ะ

“ เพราะหนึ่งชีวิตมีค่า การฝึกกู้ชีพจากการปฏิบัติจริง
และการฝึกนอกตำราจึงเป็นเรื่องสำคัญ ”

ทุกวินาทีของผู้ป่วยในภาวะหัวใจหยุดเต้น คือความสำคัญของการฝึกกู้ชีพ

ผศ.(พิเศษ)นพ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า การช่วยชีวิตใครสักคนนั้น คนที่สำคัญที่สุดคือ คนที่เจอผู้ป่วยคนแรก หากบุคคลนั้นรู้จักวิธีกู้ชีพเบื้องต้น ทราบวิธีกดหน้าอกหรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติที่ถูกต้อง และทราบว่าจะต้องติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที ก็จะยิ่งเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ เพราะหากกระบวนการกู้ชีพทั้งหมดเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 4 นาที จะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นขึ้นมาเป็นปกติได้

ในต่างประเทศนั้น นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาสามารถช่วยปั๊มหัวใจให้กับผู้ประสบเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ เนื่องจากได้รับการฝึกปฏิบัติจนเป็นพื้นฐาน ดังนั้น หากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถเผยแพร่หลักการกู้ชีพเบื้องต้นให้แก่บุคลากรทุกคนได้ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะสามารถให้การช่วยเหลือผู้อื่นในภาวะฉุกเฉินได้อย่างถูกวิธี

จุดเริ่มต้น การดำเนินงาน และการสร้างเครือข่ายบุคลากรของศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง

ผศ.นพ.ตุลชัย กล่าวว่า จากความสำคัญของการฝึกกู้ชีพข้างต้น ศูนย์ฝึกกู้ชีพและทักษะเสมือนจริงจึงริเริ่มจัดการอบรมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โดยให้การฝึกอบรมทั้งบุคลากรภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และภายนอกรวมแล้วกว่า 3,000 คน อีกทั้งยังมีแผนการฝึกสอนบุคลากรทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นนิสิตแพทย์ แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานตามหน่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในการกู้ชีพที่ถูกต้อง เหมาะสมกับขอบข่ายและการทำงานของแต่ละฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในแต่ละวัน

สำหรับความมุ่งหวังของศูนย์ฯ ผศ.นพ.ตุลชัย กล่าวว่า ศูนย์ฯต้องการจะเตรียมความพร้อมของบุคลากรในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้สามารถทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกู้ชีพผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องได้รับประกาศนียบัตรการเข้าอบรมการกู้ชีพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผ้มูาใช้บริการได้ว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย เช่น คณะกรรมการพัฒนาระบบปฏิบัติการกู้ชีพ และฝึกทักษะเสมือนจริง ศูนย์ฝึกกู้ชีพและทักษะเสมือนจริง ตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน เช่น ฝ่ายการพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยนั้นมีความรู้และทักษะในการกู้ชีพเป็นมาตรฐานเดียวกันSimulation & CPR Center

ผศ.นพ.ตุลชัย ยังกล่าวเสริมถึงการผลักดันให้เกิดเครือข่ายบุคลากรเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนว่า ศ.นพ.เทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์ หัวหน้าศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริงได้จัดให้มีการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายโรงพยาบาลอื่นๆ ผ่านโครงการฝึกอบรมการเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการเพื่อรับมือผู้ป่วยวิกฤติ (Patient Crisis Management and Preparedness) เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาอีกด้วย

นโยบายการพัฒนาศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง

ผศ.นพ.ตุลชัย อธิบายถึงนโยบายการพัฒนาศูนย์ฯ ว่าประกอบด้วย 3 ส่วนหลักด้วยกัน ได้แก่ บุคลากร อุปกรณ์ และระบบ เพราะสิ่งสำคัญของการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพจะต้องเกิดจากการเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม โดยมีการหารือกันว่าในสถานการณ์นั้น แพทย์ต้องการอะไรหากเหตุเกิดที่อาคารปฏิบัติงานของตนเองบุคลากรแต่ละคนจำเป็นต้องทราบว่าอุปกรณ์สำคัญสำหรับช่วยเหลืออยู่ที่ไหนรวมถึงมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการนำอุปกรณ์มาช่วยเหลือ ใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ต้องนำมาฝึกสอน โดยศูนย์ฯ ได้ทำการฝึกปฏิบัติกู้ชีพให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ห้องผ่าตัดศัลยกรรม ห้องส่องกล้องอยู่เป็นประจำ

ผศ.(พิเศษ)นพ.ธรรมศักดิ์ อธิบายเสริมด้วยว่า นอกจากการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรแล้ว ศูนย์ฯ ยังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในด้านการพัฒนาความรู้ อุปกรณ์กู้ชีพ และการฝึกทักษะเสมือนจริง โดยมีนโยบายให้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลการก้ชู ีพในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่า มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด จุดใดควรปรับปรุง จนนำมาสู่นโยบายเพื่อการพัฒนาทั้งในเชิงระบบทรัพยากร และการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการกู้ชีพอย่างถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุด

โดดเด่นด้วยความทันสมัยและอุปกรณ์ที่ครบครัน

อีกหนึ่งความโดดเด่นของศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริงคือห้องฝึกปฏิบัติการและห้องสังเกตการณ์ระหว่างการฝึกอบรม โดย ผศ.นพ.ตุลชัย ขยายความว่า ภายในห้องฝึกปฏิบัติการจะมีการบันทึกวีดิทัศน์ (Video) ตามมุมต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลของผู้เข้าฝึกอบรมและนำมาวิเคราะห์ประกอบการฝึกอบรมอีกทั้งยังมีหุ่นจำลองที่เข้ากับระบบเพื่อฝึกให้ผู้เข้าอบรมรู้จักการรับมือกับการปรับสัญญาณชีพของผู้ป่วยในรูปแบบต่างๆ และมีการเชิญบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วย ตัวแทนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ และเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตร เข้าฝึกอบรมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ด้านทักษะอื่นๆ ศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริงก็ได้มีการสอนฝึกการสนทนากับผู้ป่วย หรือสอบถามอาการผู้ป่วยเพื่อทำการกู้ชีพและการรักษาต่อไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุดอีกด้วย

ความภูมิใจของศูนย์ฝึกกู้ชีพและฝึกทักษะเสมือนจริง

ผศ.(พิเศษ)นพ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า เพราะการช่วยชีวิตคนหนึ่งได้มิอาจประเมินค่าได้ ดังนั้นแล้วความภูมิใจของคณะทำงานที่ทำงานเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการฝึกกู้ชีพมากว่า 10 ปี คือ การได้เห็นผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้และทักษะไปใช้ช่วยชีวิตผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บุคคลภายนอกในพื้นที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอด
ให้กับคนใกล้ชิดและครอบครัวอีกด้วย

ผศ.(พิเศษ)นพ.ธรรมศักดิ์ ยังได้กล่าวขอบคุณแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทุกท่านที่ตระหนักถึงความสำคัญของการกู้ชีพ การปั๊มหัวใจ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤติ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีเกิดอัคคีภัย เพราะทุกวินาทีในการกู้ชีพมีความหมายอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือบุคลากรทุกคนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวด นับตั้งแต่เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยที่ถือว่าเป็นด่านแรกที่อาจประสบพบเจอผู้ป่วย เมื่อบุคลากรเหล่านี้มีความรู้เรื่องการกู้ชีพ ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยชีวิตคนได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์