ภาวะใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ (Microtia) ภาวะใบหูเล็กแต่กำเนิดเป็นความผิดปกติบนใบหน้าชนิดหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า สามารถพบได้ในเด็กแรกเกิดประมาณ 1 ใน 5,000 ราย พบในคนเอเชียมากกว่าคนขาว และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในอัตราส่วน 2-3 ต่อ 1 ราย แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หรือหากพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ก็ควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค เพื่อจะได้ดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยให้ต่อสู้กับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง
สาเหตุ
ภาวะใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ เป็นความผิดปกติของการสร้างใบหูขณะเป็นลูกอ่อนในครรภ์มารดา นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่เชื่อว่า ภาวะนี้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบหลายปัจจัย (multifactorial inheritance) และมีโอกาสเสี่ยงกลับเป็นซ้ำในครอบครัวประมาณ ร้อยละ 5 อีกด้วย
อาการของโรค
ภาวะใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ มองเห็นเป็นต่ิงเนื้อ ไม่เป็นรูปร่างใบหูอย่างปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้ยังอาจเป็นโรคใบหน้าเล็กแต่กำเนิด มีหูชั้นกลางผิดปกติ มีลักษณะใบหูได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีใบหูเลย ใบหูขาดหายไปเป็นบางส่วน จนถึงใบหูขนาดเล็กกว่าปกติ และมีขากรรไกรล่างเติบโตน้อยกว่าปกติร่วมด้วย จึงควรได้รับการตรวจโดยทีมสหสาขา
วิธีการรักษา
การสร้างใบหูใหม่ให้แก่ผู้ป่วยสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ได้แก่
- ทำใบหูใหม่ด้วยกระดูกอ่อนของผู้ป่วยเอง
เป็นวิธีที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าการสร้างใบหูใหม่ด้วยกระดูกอ่อนเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้ผลดีที่สุด แต่ก็มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้กระดูกอ่อนซี่โครงหลายซี่และต้องผ่าตัดอย่างน้อย 2 ครั้งกว่าจะได้ใบหูที่ดูใกล้เคียงกับธรรมชาติ การผ่าตัดต้องรอให้ใบหูข้างปกติเจริญเติบโตจนเต็มที่ก่อนเพื่อเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ และมีปริมาณกระดูกอ่อนซี่โครงเพียงพอที่จะใช้สร้างใบหูใหม่ โดยทั่วไปจะเป็นช่วงอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป ใบหูที่ได้จากวิธีการนี้ดูแลรักษาง่ายที่สุดในระยะยาวแต่จะเหมือนหูปกติหรือไม่ขึ้นกับฝีมือศัลยแพทย์
- ใช้ใบหูเทียม
เป็นวิธีที่ซับซ้อนน้อยกว่า แต่มีโอกาสได้ใบหูใหม่ที่เหมือนจริงมาก อุปกรณ์ที่ใช้ฝังเพื่อยึดใบหูเทียมก็มีราคาแพง มีการต้องดูแลสม่ำเสมอ ต้องเปลี่ยนใบหูเทียมทุกๆ 2-3 ปี เนื่องจากการเสื่อมสภาพของวัสดุที่ใช้ทำใบหูเทียม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการทำใบหูใหม่ด้วยกระดูกอ่อนในระยะยาว
สามารถติดต่อขอรับการรักษาและคำปรึกษาได้ที่
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อาคาร สก ชั้น 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในเวลาทำการ จันทร์ถึงศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ เวลา 8.00-16.00 น.
โทรศัพท์ 0-2256-4330
www.craniofacial.or.th
Line : @Thaicraniofacial