โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

นิติเวชศาสตร์กับผลงาน “ตรวจดีเอ็นเอ (DNA) พิสูจน์สัญชาติไทย”

“คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สังคมไทยไม่อาจจะมองข้ามได้ เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้ปราศจากหลักฐานถิ่นอาศัยที่ออกให้โดยรัฐ ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดสิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆที่พึงได้รับจากหน่วยงานของรัฐ เช่น สิทธิในการศึกษาและสิทธิในระบบสุขภาพ เป็นต้น อุปสรรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถพิสูจน์ความจริงของปัญหานี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมได้ด้วยการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทย

รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน หัวหน้าหน่วยนิติเซโรวิทยาและพันธุศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะเริ่มโครงการตรวจดีเอ็นเอ(DNA) พิสูจน์สัญชาติไทยได้มีการสำรวจทางทะเบียนราษฎร์พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่ม คนไร้รัฐอาศัยอยู่มากกว่า 500,000 คน โดยเฉพาะตามแนวรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและในกลุ่มชาวเขา สาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีสถานะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติส่วนใหญ่เกิดจากขาดหลักฐานทางทะเบียน คือ การแจ้งเกิดนั่นเอง

ทั้งนี้ กลไกหนึ่งที่จะสามารถคืนสิทธิให้กับคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ก็คือ การตรวจสารพันธุกรรมพิสูจน์สัญชาติโดยอาศัยหลักของการพิสูจน์ความสัมพันธ์กับบุคคลอ้างอิง(เครือญาติ)ที่มีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ราคาขอการตรวจและความสามารถของหน่วยงานในประเทศในการให้บริการตรวจสารพันธุกรรมชนิดดังกล่าวได้นั้น กลับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การตรวจสารพันธุกรรมเข้าถึงได้ยาก จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวนี้หน่วยนิติเซโรวิทยาและพันธุศาสตร์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการบริการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ในกลุ่มบุคคลไร้รัฐภายใต้ชื่อโครงการ “ตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ 660 ครอบครัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” ในปี พ.ศ. 2558 โดยให้บริการตรวจดีเอ็นเอที่รวดเร็ว ถูกต้อง และได้มาตรฐานตามหลักสากล เริ่มจากกลุ่มคนไร้รัฐตามพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดราชบุรี ระนอง กระบี่ และตาก รวมทั้งสิ้น 660 ครอบครัว(ประมาณ 2,000 ตัวอย่าง) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสและคืนสิทธิอันพึงมีให้กับกลุ่มคนไร้สัญชาติ รายได้น้อยที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลสาธารณสุขประจำท้องที่ ที่ว่าการอำเภอโดย กระทรวงมหาดไทย และกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายการให้สัญชาติ ในการประสานงาน คัดกรองครอบครัวตามกฎเกณฑ์ที่สามารถตรวจด้วยดีเอ็นเอได้ และการจัดงานทะเบียนบุคคลผู้มารับการตรวจ อีกทั้งในหลายพื้นที่ก็มีทีมกฎหมายคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำต่างๆ เช่น การขอสัญชาติ การแจ้งเกิดบุตรให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำอีกในอนาคต ล่าสุดโครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว

รศ.นพ.กรเกียรติ กล่าวว่าจากการที่ได้มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ทำให้เราทราบปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์สัญชาติไทยนั้นมีจำนวนมาก และการเดินทางไกลเพื่อเข้ามาตรวจในกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจได้ ดังนั้นเราจึงได้ประสานงานกับทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อสำรวจและคัดกรองครอบครัวที่มีความจำเป็นในการตรวจและขาดแคลนทุนทรัพย์ จากนั้นทีมงานจะลงพื้นที่ตามข้อมูลที่ได้รับและดำเนินการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อตรวจเสร็จแล้วจะส่งผลการตรวจวิเคราะห์ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคืนสิทธิเป็นบุคคลสัญชาติไทยต่อไปอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าจดจำและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติฯ นั่นคือ คำขอจากบิดาซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายและอาจมีชีวิตอยู่อีกไม่เกิน 1 เดือน ณ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยความปรารถนาสุดท้ายนี้คือ ผู้ป่วยต้องการให้ลูกทั้ง 6 คนที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ (เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1 คน) ได้มีสถานะฯ และได้รับบัตรประชาชนไทย ด้วยเหตุนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทีมนิติเวชศาสตร์ จุฬาฯ แพทย์ประจำโรงพยาบาลในจังหวัดกระบี่และผู้ดูแลผู้ป่วย จึงร่วมประสานงานและตรวจดีเอ็นเอจากเลือดของผู้ป่วยและทายาททั้งหมด ทำให้ลูกทั้ง 6 คนได้รับสถานะทางทะเบียนราษฎร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายตามความปรารถนาสุดท้ายของผู้เป็นบิดา

นอกจากนี้ รศ.นพ.กรเกียรติ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การที่เราสามารถระบุสัญชาติให้คนกลุ่มนี้ได้นั้น จะช่วยลดปัญหาด้านงบประมาณในการดูแลรักษาบุคคลไร้รัฐในโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ที่ต้องดูแลคนกลุ่มนี้ตามหลักมนุษยธรรม ทำให้เกิดภาระรายจ่ายที่ทางโรงพยาบาลต้องแบกรับไว้ เมื่อบุคคลได้รับการพิสูจน์สัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว ก็ย่อมทำให้การตั้งงบประมาณการรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมมากยิ่งขึ้นด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์