โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย และมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย จัดงาน “Hemophilia Thailand 4.0” โดยมี ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านภาพลักษณ์องค์กร เป็นประธานเปิดงาน
งาน “Hemophilia Thailand 4.0” จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายหยุดยากฮีโมฟีเลีย ซึ่งวันฮีโมฟีเลียโลก จะตรงกับวันที่ 17 เมษาของทุกปี โดยในปีนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดงาน Hemophilia Thailand 4.0 มีกิจกรรม เป็นแนวทางการให้ความรู้สถานการณ์โรคฮีโมฟีเลียในยุคดิจิทัลผ่านการเสวนาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ , กิจกรรม “100 ก้าว 1000 สเต็ป” กับการออกกำลังกายซุมบ้า สนุกสนานกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยกิจกรรมได้รับความสนใจจากประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานจำนวนมาก
ทั้งนี้ รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า โรคเลือดออกง่ายหรือ ฮีโมฟีเลีย จัดเป็นโรคหายาก พบผู้ป่วย 1 คนต่อประชากร 10,000 คน ฮีโมฟีเลียชนิดที่พบบ่อยที่สุดเรียกว่าฮีโมฟีเลียเอ 8 คือ ผู้ป่วยที่ขาดปัจจัยในการแข็งตัวของเลือดแฟคเตอร์แปด (FVIII) ส่วนชนิดที่พบได้น้อยกว่าเรียกว่าฮีโมฟีเลียบี ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ขาดปัจจัยในการแข็งตัวของเลือดแฟคเตอร์เก้า (FIX) และหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจะมีอาการเลือดออกซ้ำๆ นอกจากอาการปวดแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความพิการได้ และแม้แต่การเสียชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็ก นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องให้ความสนใจกับปัญหา ที่แพทย์และผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยรวมถึงให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม