ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันแท้ไปจะทำให้การบดเคี้ยวมีประสิทธิภาพลดลง เบื่ออาหาร ส่งผลให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาและหากสูญเสียฟันหน้าจะมีผลต่อการพูด ทำให้ออกเสียงได้ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามบุคลิก หน้าที่การงาน จนทำให้ขาดความมั่นใจได้จึงจำเป็นต้องเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ด้วยการใส่ฟันปลอมทดแทนฟันที่หายไป ซึ่งในทางทันตกรรมนั้น “ฟันปลอม” มีมากมายหลายรูปแบบ ดังนี้
1. ฟันปลอมถอดได้ มีชนิดฐานพลาสติก (ฐานอะคริลิก) และฐานโลหะ ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
ข้อดี
- ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายไม่สูง
- หากภายหลังมีการถอนฟันเพิ่ม ก็สามารถเติมฟันทดแทนในฟันปลอมชิ้นเดิมได้ จึงมักใช้ในผู้ที่มีฟันที่เหลือไม่แข็งแรง หรือเป็นโรคปริทันต์อักเสบและมีการพยากรณ์โรคไม่ดี
- ฟันปลอมฐานพลาสติก มักใช้เป็นฟันปลอมชั่วคราวระหว่างรอรักษาต่อก่อนทำฟันปลอมถาวรในภายหลัง
ข้อเสีย
- มีการขยับได้บ้าง ไม่เหมือนฟันธรรมชาติ
- วัสดุที่ใช้มีความหนา ทำให้เกิดความรำคาญขณะรับประทานอาหาร หรือพูดไม่ค่อยชัด
- วัสดุที่ใช้เปราะ แตกง่าย ดูดสีและกลิ่น ถ้าดูแลรักษาไม่สะอาด อาจเกิดเชื้อราได้
2. ฟันปลอมติดแน่น เป็นฟันปลอมที่ยึดแน่นในช่องปาก ทำให้ใช้งานได้สะดวก แข็งแรง และสวยงาม มี 3 แบบ ดังนี้
ครอบฟัน : เป็นการครอบบนฟันที่สูญเสียเนื้อฟันทั้งซี่ เพื่อให้ฟันแข็งแรงขึ้น หรือเพื่อตกแต่งรูปร่างฟันให้สวยงาม
สะพานฟัน : เป็นการใส่ฟันด้วยการทำครอบฟันในฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านหน้าและหลังช่องว่างที่ถูกถอนออกไป เพื่อใช้เป็นหลักยึด
รากเทียม : เป็นวิธีการสมัยใหม่ในการแทนที่รากฟันจริง ทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมลงบนกระดูกขากรรไกรเพื่อรองรับฟันที่จะใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป (อาจเป็นครอบฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอมถอดได้) เป็นฟันปลอมที่ให้ความแข็งแรง
เหมือนฟันธรรมชาติ ติดแน่น ไม่ต้องถอดทำความสะอาดเหมือนฟันปลอมแบบถอดได้
การเลือกฟันปลอมในกลุ่มผู้สูงวัยนั้นมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา เช่น การเลือกใช้ฟันปลอมแบบถอดได้จะมีขั้นตอนการทำที่ง่ายและใช้เวลาไม่นาน รวมถึงเมื่อต้องการหลกี เลี่ยงการผ่าตัด ซึ่งผู้สูงวัยอาจมีข้อจำกัดด้วยโรคทางระบบอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ฟันปลอมแบบถอดได้ก็ยังคงมีความไม่สะดวกสบายในการใส่และใช้งาน ดังนั้น ผู้สูงวัยจึงต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับฟันปลอมให้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง
ในกรณีเลือกใช้ฟันปลอมแบบติดแน่นชนิดสะพานฟันต้องคำนึงถึงความสามารถในการทำความสะอาดช่องปากของผู้สูงวัยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่ออายุการใช้งานของฟันปลอมได้ในระยะยาว ส่วนฟันปลอมชนิดรากเทียมแม้จะมีความใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด แต่ก็มีสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณามากพอสมควรทั้งในด้านความพร้อมของผู้สูงอายุในการเข้ารับการผ่าตัด ค่าใช้จ่ายที่มีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งโรคประจำตัวของผู้สูงอายุที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำรากเทียม เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่คงที่ โรคกระดูกพรุน โรคเลือด หรือผู้ป่วยที่กำลังได้รับเคมีบำบัดหรือฉายแสง เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ฟันปลอมแต่ละชนิดต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยจึงควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเลือกแบบฟันปลอมที่เหมาะสมกับสุขภาพช่องปากของตัวท่านเองก่อนตัดสินใจ