โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดนวัตกรรมใหม่ของไทยและอาเซียน

ในสังคมปัจจุบันไม่เพียงแต่โรคร้ายแรงอย่างกลุ่มโรคมะเร็งเท่านั้นที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับชาติ หากแต่ว่า “โรคเรื้อรัง” อย่าง “โรคไต” ยังเป็นปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพของคนวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 10 จากจำนวนประชากรไทย 65 ล้านคนทั่วประเทศ หรือประมาณกว่า 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟอกไตและปลูกถ่ายไตถึง 100,000 คน นั่นหมายถึงว่า มีผู้รอรับการบริจาดได้ถึง 100,000 ข้าง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ดังนั้น “ไต” จึงเป็นอวัยวะที่รอการปลูกถ่ายและขาดแคลนมากที่สุดของไทย ณ ขณะนี้

เมื่อพูดถึงการรักษาโรคไต การปลูกถ่ายไตยังถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย โดยที่มีการฟอกเลือด หรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่า การฟอกไต เป็นการพยุงอาการของโรค ขณะรอการผ่าตัด “ปลูกถ่ายไต” เนื่องจากเทคโนโลยีการปลูกถ่ายไตในอดีตจำกัดอยู่เพียงแค่การปลูกถ่ายจากญาติโดยสายเลือดที่มีหมู่เลือดที่ตรงกันเท่านั้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันความหวังสำหรับผู้ป่วยโรคไตก็มีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเมื่อ รพ.จุฬาฯ ได้มีการพัฒนาการรักษามาอย่างต่อเนื่องและสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551

อย่างไรก็ดีล่าสุด “การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด” ได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นและเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.จุฬาฯ เมื่อ .นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต รพ.จุฬาฯ และแพทย์ผู้ริเริ่มสามารถพัฒนาการรักษาโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ด้วยการล้างน้ำเหลืองก่อนการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดซึ่งสามารถล้างเฉพาะภูมิคุ้มกันร่างกายชนิดที่ต่อต้านการข้ามหมู่เลือดออกเท่านั้น นับว่าเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคอวัยวะไม่ต้องรอนาน เพราะจะช่วยลดอัตราการเข้ากันไม่ได้ระหว่างเลือดของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคไต เปิดโอกาสให้เกิดการรักษาได้มากขึ้น หากผู้ป่วยมีญาติพี่น้องที่สามารถบริจาคให้แก่กันได้ก็สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ นอกจากนั้นตัวกรองพิเศษที่เป็นหัวใจของเทคโนโลยีนี้ ในทางปฏิบัติสามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง ทำให้เรื่องค่าใช้จ่ายลดลงเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญการพัฒนาการรักษาในครั้งนี้ส่งผลให้ รพ.จุฬาฯ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งที่ให้การรักษาและประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและอาเซียน

ปัจจุบัน รพ.จุฬาฯ ได้ร่วมคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อการพัฒนางานด้านปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต (Living donor) ซึ่งเป็นการร่วมงานระหว่างประเทศกันเป็นครั้งแรก ของมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยความอนุเคราะห์ของท่านเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ประจำราชอาณาจักรนอร์เวย์ กระทรวงการต่างประเทศ และทีมผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.จุฬาฯ โดยการประสานงานของคณะทูตไทย-นอร์เวย์, รพ.จุฬาฯ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

กล่าวได้ว่า “การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด” นวัตกรรมใหม่ของไทยและอาเซียน จะช่วยเติมความหวังให้กับผู้ป่วยโรคไตอย่างแท้จริง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีกำหนดตำแหน่งการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยใช้ภาพสนามแม่เหล็ก

การพัฒนานำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสนามแม่เหล็กมาใช้ร่วมกับการอัลตราซาวนด์เสมือนการสร้างแผนที่นำทางเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ

Intraoperative Neurophysiologic Monitoring
เพื่อการฟื้นตัวไวและคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด

เทคโนโลยีการเฝ้าระวังการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติระหว่างผ่าตัด คือ Intraoperative Bulbocavernosus Reflex Monitoring มาช่วยระหว่างการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของไขสันหลังส่วนก้นแต่กำเนิดในผู้ป่วยเด็ก

การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า

Deep Brain Stimulation หรือการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า นวัตกรรมการรักษาทางเลือกใหม่โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์